ในช่วงหลายปีมานี้ คำว่า “โรคซึมเศร้า” ดูจะกลายเป็นคำใกล้ตัวที่ได้ยินได้ฟังบ่อย ทั้งข่าวการฆ่าตัวตายจากภาวะซึมเศร้าของคนที่มีชื่อเสียง บทความเกี่ยวกับโรคซึมเศร้ามากมายบนหน้าเว็บไซต์ ไปจนถึงคำบอกเล่าของคนใกล้ตัวที่ถูกโรคซึมเศร้าเข้าโจมตี ถึงกระนั้น กลับยังมีความเข้าใจผิดอีกมากเกี่ยวกับโรคใกล้ตัวนี้ ทั้งความเชื่อที่ว่า
- อาการซึมเศร้าคืออาการของคนอ่อนแอขี้แพ้
- คนที่ต้องไปพบจิตแพทย์คือคนบ้า รวมถึง
- การที่คำว่า “ซึมเศร้า” กลายเป็นข้ออ้างเพื่อให้ได้รับการอภัยในความผิดพลาด
ซึ่งค่านิยมและความเข้าใจผิด ๆ ในสังคมนี้ส่งผลกระทบต่อตัวผู้ป่วยและคนรอบกายไม่มากก็น้อย
__________________________________________________________
เนื้อหาในหนังสือ “ซึมเศร้า...เล่าได้” เล่มนี้เป็นการนำเสนอข้อมูลและข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้ ผ่านการเล่าเรื่องและภาษาที่เป็นมิตร เข้าถึงง่าย ภาพประกอบน่ารัก โดยจะมีการสร้างตัวการ์ตูนชื่อว่า “ตัวเศร้าซึม” มาเป็นสัญลักษณ์ของโรคซึมเศร้า เพื่อช่วยให้ผู้อ่านสนุกไปกับการอ่านมากขึ้นอีกด้วย และยังมีตัวอย่างของคนดังมีชื่อเสียงที่เคยเป็นโรคซึมเศร้าและพวกเขาก็ผ่านมันมาได้แล้ว ยังมีกลุ่มตัวอย่างของโรคซึมเศร้าแยกไปแต่ละช่วงวัยไม่ว่าจะเป็น โรคซึมเศร้าในวัยรุ่น กลุ่มแม่บ้าน ซึมเศร้าในเด็ก กลุ่มคนทำงาน หรือผู้สูงอายุ และอาการซึมเศร้ารูปแบบพิเศษคือ โรคซึมเศร้าหลังคลอด และโรคซึมเศร้าในฤดูหนาว (แม้บ้านเราจะมีฤดูหนาวสั้นแต่ฤดูฝนที่มาพร้อมอากาศเย็นก็ยังทำให้เราเหงาและเศร้าได้เช่นกัน)
โรคซึมเศร้าซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ชนิดอย่างกว้าง ๆ คือ
- โรคซึมเศร้าแบบเมเจอร์ดีเพรสชัน (Major Depression) อาการรุนแรงจนถึงขั้นเคลื่อนไหวตามปกติไม่ได้ ไม่เพียงทำงานไม่ได้ แต่ยังกลับไปทำกิจกรรมที่เคยชอบไม่ได้อีกด้วย
- โรคซึมเศร้าแบบดิสทีเมีย (Dysthymia Depression) อาการไม่ค่อยรุนแรงมากนัก ผู้ป่วยอาจจะแค่ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ไม่คล่องเหมือนปกติ และ รู้สึกเศร้าซึมเป็นบางครั้งแต่ยังไม่ถึงขั้นสูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหว
__________________________________________________________
วิธีการรักษา
- ในหนังสือจะพูดถึงผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่ นักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์, พยาบาลจิตเวช, นักจิตวิทยาศึกษา, นักจิตวิทยาคลินิก ไปจนถึงจิตแพทย์
- หน่วยงานที่ให้การรักษา คือ โรงพยาบาล, คลินิกทางจิตเวช, ศูนย์สุขภาพจิต, ช่องทางปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต
สำหรับการรักษาทั่วไป
วิธีแรกเลยคือ การพักผ่อน ไม่ต้องทำอะไรทั้งนั้น วิธีนี้คือวิธีที่ดีที่สุดในการฝึกตัวเศร้าซึมให้เชื่องที่สุด มนุษย์เงินเดือนอาจลองลางาน ถ้าเป็นนักเรียนก็ควรหยุดเรียนเพื่อฟื้นฟูสุขภาพจิต ฟังดูเป็นเรื่องง่าย แต่ผู้ป่วยมัก “เกรงใจคนอื่น” และรู้สึกว่า “ต้องรับผิดชอบงานของตัวเอง” ส่งผลให้พักผ่อนได้ไม่เต็มที่
- ผู้ป่วยควรเตือนตัวเองเสมอว่า “สิ่งที่ควรทำที่สุดในตอนนี้คือการพักผ่อน” ร่างกายและจิตใจจึงจะได้รับความสงบและผ่อนคลาย ระหว่างพักผ่อนอยู่บ้าน ผู้ป่วยอาจใช้ดนตรีบำบัดควบคู่ไปด้วยเพื่อช่วยให้อารมณ์คงที่และรู้สึกผ่อนคลายขึ้น
วิธีที่สอง คือ การบำบัดรักษาทางจิตใจ การพูดคุยกับแพทย์หรือนักจิตวิทยาช่วยให้คุณตระหนักรู้และเข้าใจปัญหาในใจได้
วิธีที่สาม คือการบำบัดด้วยกระแสไฟฟ้า สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าขั้นรุนแรงการรักษาด้วยไฟฟ้าเห็นผลดีที่สุด เพราะวิธินี้ช่วยกระตุ้นสารเคมีในสมองและสารสื่อประสาท
วิธีที่สี่ คือการรักษาด้วยยา การใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าสำคัญมาก ยาที่ใช้เป็นหลักคือยาต้านเศร้าควบคู่กับยาคลายกังวลและยานอนหลับ (ถึงแม้การรักษาจะไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับทุกกรณีแต่ก็มีความสำคัญ
ระหว่างการรักษา ขอให้คุณอดทนและทำตามคำแนะนำของแพทย์ การรักษาจึงจะเห็นผล นอกจากนนี้ การศึกษาคุณสมบัติของยาหรือสังเกตว่ายาชนิดใดที่กินแล้วได้ผล ก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกัน)
__________________________________________________________
จากหนังสือบอกว่า การรักษาโรคซึมเศร้า หลายคนอาจสงสัยว่า “ฉันจะดีขึ้นจริง ๆ หรือ ” ผลกระทบจากโรคมักทำให้ผู้ป่วยคิดว่า “อาการคงไม่ดีขึ้นตลอดชีวิต” ความคิดในแง่ลบอาจส่งผลเสียต่อการรักษา ผู้ป่วยบางคนหยุดรับการรักษาและหยุดกินยากลางคันเพราะรู้สึกหมดหวัง อาการของโรคจึงรุนแรงขึ้น ดังนั้นผลการรักษาจะมี 2 แบบคือ
1.ผู้ป่วยบรรเทาอาการโรคซึมเศร้าและฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรงเหมือนเดิมได้
- เราควรมองว่าโรคซึมเศร้าคือ “ไข้ใจ” เหมือนกับการเป็นหวัด ผู้ป่วยต้องพักผ่อนให้เต็มที่ กินยาให้ตรงเวลา จึงจะมีโอกาสหายขาดได้ หลังหายดีแล้ว ลองย้อนมองดูตนเองตอนที่ไม่สบาย ผู้ป่วยอาจพบว่าปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ในอดีตล้วนแก้ไขได้อย่างง่ายดายเมื่อหายจากโรคซึมเศร้า
2.โรคซึมเศร้าคือโรคที่กลับมาเป็นซ้ำได้ง่าย
- แม้เราจะรักษาโรคซึมเศร้าให้หายขาดได้แต่เจ้าตัวเศร้าซึมก็อาจเข้ามาทำให้ชีวิตวุ่นวายได้อีกครั้ง เพราะฉะนั้น หลังจากอาการดีขึ้นเราควรใส่ใจและรู้จักวิธีป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ
เมื่อผู้ป่วยหายดีแล้ว ต้องคอยระวังเรื่องสภาพจิตใจและความกดดันในการใช้ชีวิต ผู้ป่วยบางรายพออาการดีขึ้นก็ทำงานจนละเลยความรู้สึกและสภาพจิตใจของตัวเอง ควรออกกำลังกายต่อเนื่องให้ติดเป็นนิสัยเพราะการออกกำลังกำลังกายช่วยลดอัตราการเป็นซ้ำของโรคซึมเศร้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการฝึกสมาธิ ทำลายกำแพงความคิด ปรับลดแรงกดดัน (ทั้งภายในและภายนอก) และการออกไปรับแสงแดดนอกบ้าน __________________________________________________________
***สิ่งสำคัญเมื่อเผชิญหน้ากับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนในครอบครัวและเพื่อนของผู้ป่วยควรปฏิบัติตามกฎ “3 ห้าม” นี้ จึงจะช่วยขับไล่ตัวเศร้าซึมได้
- ห้ามให้กำลังใจ : ไม่ควรพูดกับผู้ป่วยว่า “สู้ ๆ นะ” หรือ “คิดในแง่ดีเข้าไว้”
- ห้ามกล่าวโทษ : ห้ามโทษผู้ป่วยว่า “ทั้งหมดเป็นความผิดของเขา” หรือ “พอเป็นโรคแล้วทำอะไรไม่ดีสักอย่าง”
- ห้ามโต้แย้ง : ถ้าผู้ป่วยระบายความรู้สึกหดหู่ออกมา ให้รับฟังอย่างเดียวก็พอ ไม่ต้องไปโต้แย้งว่าสิ่งที่ผู้ป่วยพูดมานั้นผิดทั้งหมด
__________________________________________________________
ข้อมูลที่กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของหนังสือซึมเศร้า..เล่าได้ ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมายในหนังสือเล่มนี้ ผู้อ่านท่านใดสนใจหรือยังไม่เข้าใจในหัวข้อใดสามารถหาหนังสือ “ซึมเศร้า...เล่าได้” มาอ่านเพื่อที่คุณจะได้เข้าใจเรื่องของโรคซึมเศร้ามากขึ้น และ
- ยังมีประวัติศาสตร์ของโรคซึมเศร้าตั้งแต่ยุคเมโสโปเตเมีย หรือ 4,000 ปีก่อนคริสต์กาล และ
- เกร็ดความรู้ของโรคทางจิตเวชอื่น ๆ รวมไปถึง
- การแนะนำอาหารที่ช่วยป้องกันไม่ให้ตัวเศร้าซึมเข้ามาวุ่นวายอีกครั้ง และอาหารหรือเครื่องดื่มที่ควรหลีกเลี่ยงอีกด้วย
หวังว่าบทความนี้จะทำให้คนทั่วไปและคนที่กำลังดูแลผู้ป่วย หรือคนที่ได้ใกล้ชิดกับผู้ป่วยจะเข้าใจโรคซึมเศร้ามากขึ้น และสำหรับคนที่กำลังเป็นโรคซึมเศร้า เราอยากบอกคุณนะว่าคุณไม่ได้สู้คนเดียว ยังมีคนที่อยากเข้าใจในโรคนี้และเข้าใจในตัวคุณด้วยค่ะ.
The Booksmith & Co.
เขียน: Staff PS Cr.เนื้อหา& ภาพ: หนังสือ ซึมเศร้า...เล่าได้