หนังสือ Sapiens — A Brief History of Humankind ถือเป็นหนังสือที่ได้รับการยกย่องโดยผู้ทรงอิทธิพลหลายท่านเช่น Bill Gates และ Obama ให้เป็นหนังสือแนวพัฒนาตนเองที่ทุกคนควรจะอ่าน คุณอาจจะงงว่าหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวของวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่ธรรมดาชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่บริเวณแถบหนึ่งของทวีปแอฟริกา ที่พัฒนาตนเองจนกลายเป็นเจ้าของโลก และ กลายเป็นศัตรูต่อระบบนิเวศ จะเป็นหนังสือแนวพัฒนาตนเองได้อย่างไร? แต่เราสามารถบอกได้เลยว่าหนังสือเล่มนี้เป็นมากกว่าแค่หนังสือพัฒนาตนเองซะอีก เพราะมันจะทำให้คุณมีมุมมองในการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป ตระหนักถึงการดำรงอยู่บนโลกใบนี้ของเราที่แสนจะสั้น และ ที่สำคัญที่สุดคือ มันจะทำให้เราเข้าใจถึงผลกระทบของการกระทำของเราที่มีต่อระบบนิเวศ และ ความสำคัญของการตัดสินใจของมนุษย์เราในวันนี้ ที่จะมีผลต่ออนาคตของวันพรุ่งนี้อย่างแน่นอน
เซเปียนส์ เป็นหนังสือที่ยิ่งอ่าน ยิ่งประทับใจ เพราะผู้เขียนได้อธิบายเกี่ยวกับการปฏิวัติต่างๆที่ได้หล่อหลอมประวัติศาสตร์มนุษยชาติให้เป็นในแบบที่มันเป็นในปัจจุบัน ผู้เขียนได้เล่า และ เรียบเรียงการปฏิวัติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การปฏิวัติทางความคิด, การปฏิวัติทางการเกษตร, การปฏิวัติทางอุตสาหกรรม รวมไปถึงการปฏิวัติที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน นั่นก็คือ การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไว้ได้อย่างละเอียด แต่ไม่น่าเบื่อและน่าติดตาม
__________________________________________________________
หนังสือเซเปียนส์ให้ข้อคิดมากมายในระดับ ‘เปิดโลกทัศน์’ เลยทีเดียว มันเป็นหนังสือที่ให้ข้อคิดในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าเป็นแนวความรู้, ความคาดเดาแต่มีตรรกะ หรือแนวปรัชญาให้เราขบคิดไปอีกหลายวัน ซึ่งไม่ว่ามันจะเป็นรูปแบบไหน ผู้เขียน Yuval Noah Harari ก็ได้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในการกระตุ้นกระบวนการคิดของผู้อ่านในเรื่องที่เราไม่เคยนึกมาก่อน แต่ถือเป็นเรื่องที่สำคัญและใกล้ตัวมากเหลือเกิน
Harari พยายามสร้างประเด็นให้ได้ขบคิดตลอดทั้งเล่ม ถึงต้นกำเนิดของการเกิดการปฏิวัติต่างๆซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาการหลายๆด้านของมนุษยชาติ เช่น กรณีของการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ ได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อมนุษย์ตระหนักได้ว่าพวกเราชาวHomo sapiens ยังไร้ซึ่งคำตอบสำหรับคำถามต่างๆที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของพวกเรา
มนุษย์เรามักคิดว่าพวกเรารู้ทุกอย่างแล้ว เราเชื่อ และ พยายามจรรโลงใจตัวเองว่าเรากำลังอาศัยอยู่ในโลกที่ความ”รู้” มีมากกว่า “ความไม่รู้” แต่แท้ที่จริงแล้ว พลังของมนุษย์ไม่ได้อยู่ที่การมีอินเตอร์เน็ตที่ทำให้เราเข้าถึงทุกอย่าง แต่ พลังที่แท้จริงของเราอยู่ตรงที่การกล้าที่จะถามคำถาม และ ช่วยกันค้นหาคำตอบที่ยังไม่สมบูรณ์
“ความไม่รู้” เป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้น มันทำให้ในทุกๆวันเรามีความกระหายที่จะค้นหาความชัดเจน เกิดความสบายใจในการตั้งคำถามและถามออกไป กล้าที่จะยอมรับว่าเรารู้น้อยมาก...หรือกล่าวได้อีกนัยนึงว่าทิฐิของเราจะลดลงไปโดยปริยาย
__________________________________________________________
ยิ่งอ่าน หนังสือ Sapiens — A Brief History of Humankind เราก็จะยิ่งเห็นถึงพัฒนาการ และวิวัฒนาการของชาติพันธุ์เรา และ เราจะยิ่งเข้าใจถึงพลังและอำนาจที่เรามีอยู่ในมือ แต่ Harari ก็พยามให้เราเห็นถึงอันตรายของพลังอำนาจนี้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น
เราได้ทำลายแทบจะทุกระบบนิเวศน์ที่เราได้สัมผัส และ เป็นสายพันธุ์แรกและสายพันธุ์เดียวที่กำลังเล่นเป็นพระเจ้าโดยที่ไม่รู้เลยว่ามันจะส่งผลกระทบต่ออนาคตของบ้านเราอย่างไร ไม่เพียงแค่เรากำลังเล่นกับ DNA ของสัตว์สปีชี่อื่นๆ (ไก่, หมู ,วัวฯลฯ) แต่เรากำลัง เปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของเราชาว Homo sapiens ไปด้วยโดยไม่รู้ตัว!
การมีอำนาจเป็นสิ่งที่สำคัญ และ เป็นสิ่งที่ดี แต่อย่าลืมที่จะตระหนัก และ ถามคำถามหนึ่งที่สำคัญ มันไม่ใช่ “เราจะทำอะไรกับมัน” แต่เป็น “เราควรทำอะไรกับมัน” ...ศีลธรรมและจริยธรรมควรจะเดินคู่กันไปกับความเป็นไปได้ต่างๆเสมอ และ บทเรียนนี้เป็นสิ่งที่เราสามารถปรับใช้ได้ในทุกๆด้านของชีวิตเรา
ในยุคปัจจุบันที่เราสามารถเสพแรงบันดาลใจจากเทคโนโลยีมากกว่าแต่ก่อน และ ได้รับโอกาสที่จะสร้างคอนเนคชั่นกับใครก็ได้บนโลกใบนี้ผ่านปลายนิ้วสัมผัส สิ่งที่ตามมาคือดูเหมือนเราจะทำให้โลกที่อยู่ภายในตัวเราเสียงดังและอโคจรมากขึ้นไปด้วย และ พอเสียงภายในตัวดังขึ้นเรื่อยๆ เราก็ยิ่งพยายาม(ราวกับว่าจำเป็น)ที่จะต้องตะโกนให้โลกภายนอกได้ยิน ด้วยการโปรโมทตัวเอง...การได้อ่านหนังสือเซเปียนส์ จะทำให้เราเข้าใจว่าการหลงในภาพที่เราสร้างเพื่อจำกัดความความเป็นตัวเอง เป็นสิ่งที่สปีชี่ของเราไม่ถนัดเป็นอย่างยิ่ง แต่สิ่งที่เราถนัด และ ช่วยให้ชาติพันธุ์เราพัฒนาได้มากกว่า คือ การ “จินตนาการ”ในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง หรือไม่สามารถจำกัดความได้สิ้นสุด (เช่น ศาสนา หรือ ประเทศชาติ เป็นต้น) มนุษย์เราจะรู้สึกพอใจในระยะยาวเมื่อได้สร้างชุมชน หรือกลุ่มคนที่แบ่งปันความเชื่อเดียวกัน และต่อยอดความเชื่อเหล่านี้ด้วยการทำงานร่วมกัน
นี่เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่หนังสือเล่มนี้ได้พยายามย้ำเตือนเราได้อย่างแยบยล นั่นก็คือ การลงมือทำในสิ่งที่คุณเห็นค่า และ มีความหมายสำหรับคุณ หรือในภาษาอังกฤษ“Things that matter” ! การที่เราจะสามารถเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้อย่างแท้จริง เราต้องทำสิ่งที่เราให้ค่าและมีความหมายกับเราจริงๆ พัฒนาสิ่งเหล่านั้นด้วยความเอาใจใส่ มันจะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆที่เห็นค่าของสิ่งๆนั้นด้วย และ พวกเขาก็ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างคุณค่าของสิ่งๆนั้นด้วยเช่นกัน และเมื่อเราเอาผลิตผลของการทำสิ่งที่เราเห็นคุณค่ามารวมกับสิ่งที่มีคุณค่าชิ้นอื่นๆที่คนอื่นๆช่วยกันสร้างขึ้นมา โลกใบนี้ก็จะเต็มไปด้วยคุณค่ารูปแบบต่างๆ และ ส่งผลกระทบให้โลกใบนี้มีคุณค่ามากขึ้นเช่นกัน
__________________________________________________________
เรารับประกันได้เลยว่าหนังสือเล่มนี้ รวมไปถึงหนังสืออีกสองเล่มของ Harari นั่นก็คือ Homo Deus และ 21 Lessons for the 21st Century จะทำให้คุณทิ้งอีโก้ของตัวเองและกล้าที่จะทำเรื่องที่มีความหมายกับตัวคุณจริงๆ มันอาจจะไม่ง่าย แต่รับรองได้เลยว่ามีเพื่อนมนุษย์คนอื่นที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ และ จะเป็นกำลังใจให้คุณเช่นกัน หนังสือเล่มนี้จะทำให้คุณกล้าที่จะไม่รู้ และ กล้าที่จะให้ค่าความไม่รู้ด้วยการออกไปหาคำตอบและสร้างความแตกต่าง!
____________ The Booksmith
อ้างอิง: หนังสือ Sapiens — A Brief History of Humankind