เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า ไดอารี่ของแอนน์ แฟรงค์ ถือเป็นไดอารี่ที่มีคนอ่านมากที่สุดในโลก อีกทั้งยังเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์อันสำคัญที่ทำให้นักอ่านทั่วโลก เข้าใจและเข้าถึงโศกนาฏกรรมจริงที่เกิดขึ้นที่ดูแทบจะจิตนาการได้ไม่ออกได้มากขึ้น
แอนน์ แฟรงค์เป็นเด็กสาวชาวยิวคนหนึ่งที่ต้องหลบซ่อนตัวจากเหล่าทหารนาซี ภายในห้องลับกับครอบครัวและผู้ร่วมชะกรรมคนอื่นในเมืองอัมสเตอร์ดัมหลังจากที่พี่สาวของเธอได้รับการเรียกตัวไปค่ายกักกันของนาซี ระหว่างการหลบซ่อนนี่เอง ที่แอนน์ แฟรงค์ เริ่มเขียนไดอารี่ที่เธอตั้งชื่อให้ว่าคิตตี้ เพื่อใช้ปรับทุกข์และระบายความโศกเศร้าที่คุกกรุ่นอยู่ในหัวใจแต่ไม่สามารถบอกใครให้รู้ได้ หลังจากหลบซ่อนมาเป็นระยะเวลาสองปี แอนน์ และ ครอบครัวก็ถูกพบตัว (ซึ่งจนถึงปัจจุบัน หลักฐานมากมายที่ทางราชการค้นพบก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่าพวกเขาถูกเจอตัวได้อย่างไร) ครอบครัวของแอนน์ และ ผู้หลบซ่อนคนอื่นๆต่างก็ถูกทำให้แยกกันกระจัดกระจายไปตามค่ายกักกันต่างๆของนาซี ซึ่งมีเพียงพ่อของแอนน์เท่านั้นที่รอดชีวิตมาได้ ในช่วงที่มีการบุกจับกุม ทหารนาซีได้เทของทั้งหมดในกระเป๋าของแอนน์ออก และใช้มันเพื่อเก็บเครื่องประดับและเงินที่พบภายในบ้านของเหล่าชาวยิวเท่านั้น ส่วนไดอารี่เล่มสีแดงสดของแอนน์ก็ถูกพบอยู่ที่ห้องลับนั้นในเวลาต่อมา และถูกนำไปตีพิมพ์จนกลายเป็นหนังสือที่ตราตรึงใจของคนทั่วโลกจนถึงปัจจุบันนี้
Anne Frank’s Diary:The Graphic Adaptation เล่มนี้ เป็นหนังสือนวนิยายภาพจำนวน 148 หน้าถูกดัดแปลงมาจากหนังสือบันทึกลับแอนน์ แฟรงค์ เป็นนวนิยายภาพที่มีการเรียงร้อยภาพ และ เนื้อหาเข้าไว้ด้วยกันอย่างสมดุล และคงจุดประสงค์ของการเป็นส่วนสำคัญในการ ‘เล่าเรื่อง’ได้อย่างดีเยี่ยม หนังสือนวนิยายภาพเล่มนี้ได้เปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้ว พร้อมกับการแถลงข่าวว่ากำลังมีการสร้างภาพยนต์อะนิเมชั่นเรื่อง Where is Anne Frank ซึ่งทั้งหนังสือนวนิยายภาพ และ ภาพยนต์ก็ถูกรังสรรค์ขึ้นเพื่อเป็นการสดุดีงานเขียนของแอนน์ และ เพื่อให้คนทั่วโลก โดยเฉพาะคนรุ่นหลัง ได้สัมผัสเรื่องราวชีวิตของเธอในอีกรูปแบบหนึ่งราวกับว่าได้ชุบชีวิตของแอนน์ แฟรงก์ขึ้นมาอีกครั้ง
แน่นอนว่าหนังสือ บันทึกลับของแอนน์ แฟรงค์ ยังคงได้รับการตอบรับอย่างยอดเยี่ยมทั่วโลก และกลุ่มผู้อ่านก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆในทุกๆปี โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศใหม่ๆที่เริ่มสนใจแอนน์ แฟรงค์ และ เรื่องราวของสงครามโลกครั้งที่สองมากขึ้น ในขณะเดียวกัน พฤติกรรมการอ่านของผู้อ่านก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน เยาวชนคนรุ่นใหม่ เข้าสังคมต่างไปจากเดิม และกำลังเติบโตภายใต้รูปแบบการศึกษาและบริบททางประวัติศาสตร์ที่ไม่เหมือนเดิม เมื่อมีโลกแห่งอินเทอร์เน็ตเข้ามา รูปภาพมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น และ นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้Anne Frank’s Diary ถือกำเนิดขึ้นมา เพื่อสร้างสรรค์เรื่องราวของแอนน์ แฟรงก์ฉบับที่มีภาพประกอบในปริมาณที่สมดุล และ ยังคงเนื้อหาและการเขียนตามต้นฉบับเดิม
Anne Frank’s Diary:The Graphic Adaptation เป็นนวนิยายภาพเล่มแรก และ เล่มเดียวที่มูลนิธิ Anne Frank Fonds มูลนิธิการกุศลที่จัดตั้งขึ้นโดย ออตโต้ แฟรงก์ พ่อของแอนน์ในปีค.ศ. 1963 ให้การยอมรับอย่างเป็นทางการ เพราะทางมูลนิธิต้องการให้งานเขียนของแอนน์คงความสมบูรณ์ทางการเขียนไว้ให้มากที่สุด ในขณะเดียวกันพวกเขาก็เข้าใจ และ ต้องการหนังสือรูปแบบใหม่ที่จะช่วยเข้าถึงกลุ่มนักอ่านทุกประเภท โดยเฉพาะนักอ่านรุ่นเยาว์ที่ยังไม่ได้รู้เรื่องราวของแอนน์ ซึ่งนวนิยายภาพเล่มนี้ก็ได้มีการอ้างอิงจากหนังสือไดอารี่ของแอนน์ แฟรงก์ ฉบับ The Diary of a Young Girl ซึ่งเป็นฉบับที่สมบูรณ์ที่สุด และ ทางมูลนิธิก็ได้กล่าวชื่นชมผลงานของ Ari Folman and David Polonsky ที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่คงความเป็นแอนน์ แฟรงค์ ไว้ได้อย่างละเอียดอ่อน และ วิธีการเขียนของเธอ ที่มีความสดใส และ เสียดสี ยังคงโดดเด่นเหมือนเดิมในหนังสือเล่มนี้
เบื้องหลังผลงาน
Anne Frank’s Diary:The Graphic Adaptation ถูกดัดแปลงและวาดภาพโดย Ari Folman และ David Polansky
Ari Folman เป็นผู้กำกับ และ ผู้ประพันธ์บนภาพยนต์ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์จากหนังเรื่อง Waltz with Bashir เขาเป็นลูกชายของผู้รอดชีวิตจาก Holocaust หรือเหตุการณ์การล้างชาติชาวยิว แม่ของเขามักจะเล่าเรื่องราวอันแสนโหดร้ายที่เกิดขึ้นในช่วงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ให้เขาและน้องสาวฟัง เขาได้กล่าวถึงแรงบันดาลใจ และอธิบายที่มาที่ไปของผลงานของเขา ที่ส่วนใหญ่นั้นเกี่ยวกับสงคราม และ การเมืองในนิตยาสารเล่มหนึ่งว่า
“ผมกลัวว่าในอีกไม่นาน จะไม่มีผู้รอดชีวิตจากโศกนาฏกรรมการล้างชาติหลงเหลืออยู่ และ จะไม่มีพยานที่ยังมีชีวิตอยู่มาเล่าเรื่องราวของพวกเขาให้เราฟัง”
David Polansky ก็เป็นนักวาดภาพที่ได้รับรางวัลมากมายเช่นกัน เขาชอบที่จะได้เป็นตัวกลางในการเล่าเรื่องราวของผู้คนโดยเฉพาะผู้ลี้ภัยจากสงครามทางการเมือง เพราะเขาเชื่อว่า “ทุกๆคนมีเรื่องราว และ ทุกเรื่องราวมีความสำคัญ” เขาเชื่อว่าการที่ผู้อ่านได้เห็นภาพจะช่วยกระตุ้นให้เกิดข้อถกเถียงทางสังคมว่าสงครามทั้งหมดที่กำลังดำเนินอยู่มันจำเป็นจริงๆมั้ย และ เราจะสามารถช่วยเหลือผู้ลี้ภัยได้อย่างไร
ในตอนแรกทั้ง Folman และ Polonskyปฏิเสธที่จะนำไดอารี่ของแอนน์ แฟรงค์มาดัดแปลงให้กลายเป็นนวนิยายภาพ เพราะพวกเขาไม่มั่นใจว่าฝีมือของตัวเองจะสามารถทำให้เรื่องราวของเธอ ซึ่งถือเป็นหลักฐานอันสำคัญของสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ได้รับการแปลมากว่ายี่สิบภาษา และเป็นที่ชื่นชอบตลอดระยะเวลา 70 ปี โดดเด่นมากกว่าที่มันเป็นอยู่แล้วได้ แต่Folman ก็เปลี่ยนใจเมื่อแม่ที่มีอายุกว่า 95 ปีของเขาได้บอกกับเขาว่าเธอมีชีวิตอยู่ด้วยเป้าหมายที่จะได้เห็นผลงานของเขาตีพิมพ์ออกมา
“ผมเป็นกังวล เพราะ แอนน์เป็นผู้หญิง และ เราสองคนก็เป็นชายวัยกลางคน ถ้าเราทำมันออกมาแล้วสื่อถึงตัวเธอได้ไม่ดีพอล่ะ แต่เมื่อเราตระหนักได้ว่าผลงานชิ้นนี้จะเป็นการสดุดีและชุบชีวิตเธอขึ้นมาแล้ว เราก็เกิดความกล้า และ อยากทำมันออกมาให้สมบูรณ์แบบที่สุด”
“ในฐานะที่ผมเป็นนักวาดภาพ มันเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่ผมจะต้องเลือกแนวการวาดภาพ ที่หากแอนน์ยังอยู่ เธอจะต้องชอบ และ รู้สึกว่ามันเป็นตัวเธอ”
หนึ่งในภาพที่ยาก และ เจ็บปวดที่สุดที่Polanskyต้องวาด คือภาพของแอนน์เมื่อเธอโตเป็นหญิงสาวเต็มตัวแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่แอนน์ได้จินตนาการไว้ในไดอารี่ของเธอ
“เวลาวาดภาพประกอบ เราจะเริ่มคุ้นชินกับการวาดภาพที่แสดงให้เห็นถึงอารมณ์ของตัวละครในแต่ละบริบท ทั้ง อารมณ์ ภาษากาย และ เสื้อผ้า และ เราจะไม่นำความรู้สึกไปเกี่ยวพันกับงาน แต่เมื่อผมต้องจินตนาการว่าจะวาดเธอยามเป็นหญิงสาวอย่างไร ผมกับมีความรู้สึกที่อธิบายไม่ถูก ผมรู้สึกหดหู่และใจสลาย ที่เธอไม่ได้มีโอกาสเติบโตเป็นหญิงสาวที่เก่งและแข็งแกร่งตามที่เธอวาดฝันไหว”
ข้อแตกต่าง
แน่นอนว่า มันเป็นเรื่องที่ยากมากในการที่จะนำหนังสือที่มีจำนวนหน้ากว่า 470 หน้ามาทำเป็นนวนิยายภาพ ซึ่ง Foulman ก็ได้อธิบายไว้ว่าหากไม่ได้มีการย่อ หรือ ปรับรูปแบบของเนื้อหาบ้าง หนังสือนวนิยายภาพเล่มนี้คงมีจำนวนมากกว่า 3,500 หน้า อีกทั้ง ยังมีเนื้อหาบางส่วนที่ไม่สามารถปนภาพ และ ตัวอักษรเข้าไว้ด้วยกันได้ ดังนั้น มีบันทึกที่แอนน์เขียนในบางวันที่ถูกตัดออกไป และ ไม่ได้มีการใส่เข้ามาในหนังสือเล่มนี้
การเปรียบเทียบตัวเธอเองกับพี่สาวที่ต่างกันซะเหลือเกินที่ดำเนินไปทั้งหนังสือนั้น ก็ได้มีการสรุปสั้นๆไว้ในหน้าเดียวเพื่อแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างทางบุคลิกของทั้งคู่ ทำให้เราไม่ค่อยรู้สึกถึงความตึงเครียดของทั้งคู่เท่ากับในหนังสือซักเท่าไหร่
อย่างไรก็ตามพวกเขาก็ยังชูจุดเด่นต่างๆที่แอนน์ ได้เขียนไว้ได้อย่างดีเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นการจิกกัดคุณนาย ฟอน ดันน์ หรือ การจินตนาเรื่องอาหารที่ไม่หยุดหย่อนของแอนน์ เพื่อลดความคิดเรื่องความหิวในชีวิตจริงของเธอ
สิ่งหนึ่งที่สำคัญและน่าชื่นชม Foulman กับ Polonsky คือ การคงนำเสนอบันทึกที่สำคัญๆของแอนน์ไว้อย่างเต็มรูปแบบเพื่อคงคุณค่าการเขียนของเธอไว้ และไม่ตัดทอนและดัดแปลงมัน เพราะบางอย่างก็เหมาะกับการด่ำดิ่งเข้าไปในแต่ละตัวอักษรมากกว่า
ต้องขอบอกว่าภาพภายในมีความสวยงาม และ สดใสเป็นอย่างมาก มันทำให้เราได้เห็นเรื่องราวของเธอในมุมที่สว่างขึ้น และ ทำให้ผู้อ่านรู้สึกราวกับว่าได้เข้าไปอยู่ในจินตนาการและความคิดของแอนน์ที่ถึงแม้ว่าโลกภายนอกจะโหดร้ายขนาดไหน เธอก็ยังคงมีความหวัง และ เลือกที่จะมองในแง่ดี และ เห็นคุณค่าในสิ่งที่เธอมีอยู่ บริบททุกอย่างในหนังสือยังคงสะท้อนนิสัยของแอนน์ถ่ายทอดไว้ในไดอารี่ไว้ได้อย่างดีเยี่ยม นั่นก็คือความดื้อรั้น ช่างเสียดสีประชดประชัน แต่ยังคงความขบขัน และน่ารักและน่าเอ็นดู
แน่นอนว่าไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการได้อ่านไดอารี่ฉบับเต็ม และ สัมผัสโลกของแอนน์แฟรงค์ตามจินตนาการของเราเอง แต่นวนิยายภาพเล่มนี้ ก็ถือเป็นการรวมพรมแดนของตัวอักษรและภาพเข้าไว้ด้วยกันได้อย่างสมบูรณ์แบบ และ คงจะเป็นรูปแบบสื่อที่ดีในการเข้าถึงผู้อ่านรุ่นเยาว์ได้มากขึ้น
___________ The Booksmith