ในความเป็นจริงเชื่อว่าอ่านกันทุกอย่างแหละครับ แต่รสนิยมจำเพาะคงแล้วแต่บุคคล ตัวผมนั้นที่อ่านส่วนมากจะเป็นกลุ่ม Non-Fiction กลุ่มนี้เองที่พอไล่หนังสือที่บ้านพบว่าผมมีหนังสือที่เกี่ยวกับหนังสือ และร้านหนังสืออยู่พอสมควรทีเดียว


เรียงลำดับตั้งแต่หนังสือเกี่ยวกับการออกแบบร้านหนังสือ หนังสือเกี่ยวกับร้านหนังสือต่าง ๆ อาทิ Shakespeare and Company, City Light Bookshop, Strand Bookstore หรือถ้าหนังสือเกี่ยวกับหัวข้อเฉพาะของการทำร้านหนังสือก็มีอย่าง the Mathematics of Bookselling, Book Business, หรืออ่านสนุกก็มีของ Jen Campbell: The Bookshop Book


แต่มีหนังสือสองเล่มที่ผมคิดว่าเหมาะสำหรับคนรักหนังสือ คนทำหนังสือ คนอ่านหนังสือ และคนขายหนังสือ อย่างมาก หนึ่งในสองเล่มนี้คนที่แนะนำให้ผมอ่าน รวมถึงสั่งมาขายได้เสียชีวิตไปแล้ว คนแนะนำจัดว่าเป็นทั้งเซียนหนังสือ และขายหนังสือทีเดียว Keith Hardy เป็นคนอังกฤษ อดีตเจ้าของร้านหนังสืออิสระ ก่อนขายกิจการแล้วย้ายตัวเองมาอยู่ที่กาญจนบุรี ผันตัวเองมาเป็นตัวแทนสำนักพิมพ์ต่างประเทศในไทยทั้งฝั่งอเมริกา และอังกฤษ เขามีฉายา The Eagle Eyes ในหมู่นักเขียนต่างชาติในประเทศไทย เพราะทำงานเป็น Editor ให้นักเขียนเหล่านั้นด้วย ขนาดผมเขียนอะไรไม่ถูกในใบสั่งของยังต้องกลับมาแก้ให้ถูกต้อง นิด ๆ หน่อย ๆ เขาก็ไม่ปล่อยให้ผ่าน เขาบอกผมว่า “Sirote, not on my watch., you have to do it right.”


เล่มแรก คือ The Book โดย Keith Houston จากสำนักพิมพ์ W.W. Norton & Company ในอเมริกา ผมเองที่เรียนด้านนิเทศศาสตร์ตอนปริญญาตรี คิดว่าไม่ได้เรียนเรื่องเกี่ยวกับโครงสร้างของหนังสือ 1 เล่มมากเท่ากับอ่านเล่มนี้เล่มเดียวมาก่อน 


The Book อธิบายตั้งแต่ประวัติของกระดาษสมัยอียิปต์โบราณมาจีน ดำเนินเนื้อเรื่องผ่านช่วงเวลาของก้าวกระโดดด้านการพิมพ์สมัย Gutenberg จนถึงปฎิวัติอุตสาหกรรม เล่มนี้เองที่ Keith Hardy บอกผมเมื่อปี 2016 ว่า อย่าคิดทำร้านหนังสือถ้ายังไม่ได้อ่านเล่มนี้ เขาบอกผมว่านายต้องรู้จัก Heart & Soul ของหนังสือให้ได้เสียก่อน 


ผมบอกเขาว่า “ลำพังผมอ่านเองคงไม่ลำบาก แต่ให้สั่งมาขายนี่ไม่แน่ใจเพราะมันมีแต่ text ทั้งนั้น” เขาตอบผมเหมือนกับที่ George ตอบ Joe Fox ใน You’ve Got Mail ว่า That’s why it worth so much” 


ผมเชื่อเขาจึงสั่งมาทั้งอ่าน และสั่งมาขาย แต่สั่งมาเพียงสองสามเล่มไว้ขายเท่านั้น หมดไปแล้วนานแล้วเช่นกัน ตอนเห็นเล่มจริงก็ถึงบางอ้อว่าทำไม Keith ถึงอยากให้ทั้งอ่านและขาย The Book มีทุกอย่างที่คนรักหนังสือ หรือคนที่ทำอะไร ๆ เกี่ยวกับหนังสือควรอ่าน ผมเองเข้าใจโครงสร้างของหนังสือเล่มหลายองค์ประกอบก็จาก The Book เล่มนี้ อาทิ hinge, binding tape, fore-edge, half title, ad card, dingbat, frontmatter head, ornament, part title, part number, section break, folio, verso running head, recto running head, gutter และอื่น ๆ อีกมากมาย


ผมเข้าใจ Keith หลังจากได้อ่าน The Book แล้ว ทำไมเขาถึงบอกว่า “จะขายหนังสือ ต้องเข้าใจหนังสือก่อน นายต้องรู้ว่าหนังสือสวยเป็นยังไง หนังสือดีเป็นยังไง เพราะถ้าตอนนั้นลูกค้าถาม นายจะโกหกเขาไม่ได้ ไม่ใช่หนังสือทุกเล่มจะดีสมบูรณ์ นายเป็นคนขายนายต้องตอบได้ เลือกเอาว่านายจะเป็น Merchants of Culture หรือจะเป็นเพียงคนเฝ้าร้านหนังสือ” เหมือนโดนทุบหัวแต่ก็เชื่อเขา


เล่มสองชื่อว่า The Face Pressed Against a Window ผมเห็นครั้งแรกที่ลอนดอนตอนไปทำงาน เล่มนี้เป็น Memoir ของ Tim Waterstone ใช่ครับ Tim คือผู้ก่อตั้งร้านหนังสือ Waterstones ในอังกฤษ เริ่มแรกทีเดียวไม่มีอะไรมาก ผมชอบอ่านเบื้องลึกเบื้องหลังจากหนังสือที่เกี่ยวกับร้านหนังสือ แต่เล่มนี้ไม่ใช่ Memoir แนวนั้นซะทีเดียว


ผมตะลุยอ่านจบภายในสองวัน นี่คือไบเบิลเกี่ยวกับการขายปลีกหนังสือที่ดีที่สุดที่ผมเคยอ่าน หนังสือถูกเขียนขึ้นจากประสบการณ์จริงของ Tim Waterstone ในการเปิดร้านหนังสือ ที่สำคัญสิ่งที่ Tim บอกในหนังสือมันสวนทางกับตำรา MBA เหลือเกิน


ในค้าปลีกทั่วไปเรามักจะคิดสูตรเรื่อง Stock Turns per Sq.m. การรักษาสัดส่วนรายได้ต่อการลงทุนต่อตารางเมตรเป็น KPI และเป็น Measurement Matrix อันเป็นหัวข้อสำคัญของคนทำค้าปลีกอย่างมาก 


แต่ Tim Waterstone บอกง่าย ๆ ว่า “ตราบใดที่ต้นทุนอย่างค่าเช่า เงินเดือนพนักงานต่อตารางเมตรคงที่ จะไปแคร์ทำไม ใส่หนังสือให้เข้าไปต่อตารางเมตรให้เยอะที่สุด เมื่อสต็อคเยอะมันจะผกผันกลับมาเป็นรายได้เอง แต่นั่นต้องเป็นสต็อคที่มีคุณภาพด้วยนะ เรื่องหารายได้เป็นเรื่องยากที่สุดแล้ว นอกเหนือจากนั้นพอมีเงินหมุนเข้ามา อะไรก็จัดการได้ง่าย อย่าไปกดสต็อคเพื่อหลอกตัวเองว่า Performance ดี ตราบใดที่ไม่มีรายได้ ก็จบกัน” นั่นสิผมเองก็ไม่เคยเห็นใครเติบโตจากการลดค่าใช้จ่าย แต่ประโยคที่ว่า “เพิ่มยอดขาย ลดค่าใช้จ่าย” ดูจะเป็นเพียงท่องให้ดูเป็นผู้เอาใจใส่บริษัทเท่านั้น


Tim Waterstone ยังเชื่อว่าไม่มี One Size Fit All ในธุรกิจค้าปลีกหนังสือ เขาเชื่อว่า Waterstones ที่ลอนดอนจะมีกลุ่มลูกค้าและหนังสือที่ขายได้ไม่เหมือนไปทั้งหมดกับ Waterstones ที่เมืองอื่น ๆ กระทั่ง Waterstonses ที่ High Street Kensington ก็จะขายหนังสือไม่เหมือนกับ Waterstones ที่ Oxford Street แน่ ดังนั้นคนที่รู้ดีที่สุดคือพนักงานที่สาขา จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมี Empowerment ให้พวกเขามีส่วนในการคัดหนังสือเข้าร้านเพราะนั่นคือความรับผิดชอบของพวกเขาเองทั้งส่วนของรายได้ และสต็อค ถ้าหนังสือดีมีจำนวนที่เหมาะสม ไม่มากไป ไม่น้อยไป รายได้ก็จะดี Stock Turn ก็จะหมุนเร็ว แต่ตัวเขาไม่ค่อยสนใจเรื่องสต็อคมากนัก เพราะถ้าขายดีแต่หนังสือขาดก็ไร้ประโยชน์ 


ลักษณะการบริหารจัดการของ Tim เป็นหลักของ Independent Bookstore ไม่ใช่ Chain ที่บริหารจัดการทุกอย่างจากสำนักงานใหญ่ เหมือนใส่สูทนั่งในห้องแอร์เพื่อแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตร เรื่องการจัดการแบบ Independent Bookstore นี่เองยังยึดถือเป็นหัวใจของ Waterstones มาจนทุกวันนี้ และพวกเขาก็ยังเรียกตัวเองว่าร้านหนังสืออิสระแม้ว่าจะมีจำนวนสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศก็ตาม 


ข้อนี้ผมเห็นด้วย สังเกตตัวเองสิครับทำไมเรามักบอกว่า “ไม่เคยเห็นหนังสือเล่มนี้ที่ไหน มาเจอที่นี่” จริง ๆ หนังสือเล่มเดียวกันมีอยู่เกือบทุกที่แหละครับ แต่บุคลิกของร้านต่างหากที่ร้านหนังสืออิสระจะรู้ว่าเราขายอะไรได้ พื้นที่ที่ไม่มากนัก และเงื่อนไขจึงทำให้จำต้องคัดหนังสือจากความชอบของตัวเอง และหนังสือที่คิดว่ากลุ่มลูกค้าของร้านจะชอบ เหมือนการกรองมาก่อนรอบหนึ่ง เพราะที่ร้านหนังสืออิสระอย่างหนึ่งที่ผมเชื่อคือเราไม่ได้คิด Performance จาก Stock Turn หรือการหมุนรอบของสต็อคต่อยอดขาย เราคิดง่าย ๆ คือเอารายได้ลบด้วยค่าใช้จ่าย ที่เหลือคือกำไรหรือขาดทุน ร้านหนังสืออิสระจึงมักมีโน่นนิดนี่หน่อยวางเป็นกับดักไปตลอดทาง ยากที่จะเห็นทางเดินแบบโปร่ง โล่ง สบาย 


ผมเลือกเอาหนังสือสองเล่มนี้มาพูดถึงเพราะอยากสื่อว่าการทำร้านหนังสือนั้น เราอาจเริ่มต้นด้วย Passion แต่สิ่งที่พาเราเดินไปข้างหน้าจริง ๆ คือศาสตร์ของการขายหนังสือ และศิลป์ของการรู้จักหนังสือ สองอย่างควรมีสัดส่วนที่ไม่ต่างกันมากนัก บ้างอาจเป็นศาสตร์นำศิลป์ หรือบ้างก็ศิลป์นำศาสตร์ เชื่อมั้ยครับว่า SKU (Stock Keeping Unit) ของร้านหนังสือหนึ่งร้านจะมากกว่าสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตซะอีก เพราะหนังสือหนึ่งเล่มคือหนึ่ง SKU ไม่มี S,M,L ใด ๆ จากประสบการณ์ผมเคยได้รับแจ้งจากซูเปอร์แห่งหนึ่งให้ช่วยลบ SKU หนังสือในระบบเพราะมันเยอะมาก และกินพื้นที่จัดเก็บในระบบของสาขา ๆ นั้น ๆ มาก นั่นคือตอนที่เรายังส่งหนังสือให้กับช่องทางซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่


ทั้ง Keith และ Tim บอกเหมือนกันสิ่งหนึ่งคือ เราต้องหา Heart & Soul ของร้านหนังสือให้เจอ ร้านหนังสือจะสะท้อนตัวตนของเจ้าของ ถ้าเรามีคุณภาพในสิ่งที่ทำ ร้านหนังสือของเราก็จะสะท้อนสิ่งนั้นออกมา ใช่ครับเราคือ Heart & Soul ของร้าน และเป็นวาทยากรระหว่างศาสตร์และศิลป์ในร้านหนังสือด้วย


หนังสือทั้งสองเล่มยังสามารถสั่งพิเศษได้


Ode to Booksellers

The Booksmith Bookshop