“Whenever we hear an opinion and believe it, we make an agreement, and it becomes part of our belief system.”
— Miguel Ruiz
ดอน มิเกล รุยซ์ เกิดในครอบครัวนักบำบัด และเติบโตในชนบทของประเทศเม็กซิโก โดยมีแม่เป็นผู้รักษาเรียกว่า คุรันเดอร่า และปู่เป็นหมอผีเรียกว่า นากวอล ครอบครัวของมิเกลคาดหวังว่าเขาจะสืบทอดมรดกการรักษาและความรู้ทางปัญญาที่ดำเนินมาหลายต่อหลายศตวรรษของชาวโทลเทคเข้าสู่ยุคสมัยแห่งอนาคต แต่ตัวของมิเกลเองกลับหลงใหลในชีวิตสมัยใหม่และเลือกที่จะเข้าเรียนในโรงเรียนแพทย์และกลายเป็นศัลยแพทย์แทน ทว่า ในคืนหนึ่งของปีคริสต์ศักราช 1970 มิเกลได้สัมผัสกับประสบการณ์เฉียดตายที่เปลี่ยนชีวิตของเขาไปโดยสิ้นเชิง คืนนั้นมิเกลที่กำลังขับรถอยู่บนถนนได้เผลอวูบหลับไป และตื่นขึ้นมาอีกครั้งในขณะที่รถกำลังจะชนเข้ากับกำแพง โชคดีที่เขาได้ช่วยเหลือให้เพื่อนอีกสองคนปลอดภัยได้ทัน ตอนนั้นเองที่มิเกลรู้สึกเหมือนว่าเขาไม่ได้ควบคุมร่างกายของตนเอง จากความตกใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มิเกลได้เริ่มฝึกตั้งคำถามกับตนเองอย่างลึกซึ้ง จากนั้นจึงอุทิศตนต่อการฝึกฝนความรู้ทางปัญญาโบราณของบรรพบุรุษ โดยเรียนรู้กับแม่ของเขา และสำเร็จการฝึกกับหมอผีจอมขมังในทะเลทรายเม็กซิโก นอกจากนี้คุณปู่ของมิเกลก็ยังถ่ายทอดความรู้ให้เขาในความฝันอีกด้วย
หนังสือ The Four Agreements เป็นหนังสือให้ความรู้ทางปัญญาที่จะช่วยให้เราหลุดพ้นจากความเชื่อที่เปรียบเสมือนโซ่ตรวนตรึงเราเอาไว้กับความเชื่อแบบเดิมไม่ให้เราพัฒนาตนเอง ข้อตกลงสี่ประการนี้จะช่วยให้เรามีเสรีภาพในการใช้ชีวิตมากขึ้น และสามารถจัดการกับความคิดของตนเองและผู้อื่นได้อย่างไม่ยากเย็น หัวใจหลักของหนังสือเล่มนี้คือข้อตกลงทั้งสี่ประการ ได้แก่
ประการที่ 1 “Be impeccable with your word” ทำให้คำพูดของตนไร้ที่ติ พูดด้วยความสัตย์จริง พูดเฉพาะสิ่งที่หมายความถึง หลีกเลี่ยงการใช้คำพูดต่อต้านตนเองหรือคำพูดนินทาคนอื่น คำพูดนั้นมีพลังมหาศาล เราจึงควรพูดเมื่อพูดถึงความจริงและความรักเท่านั้น
ประการที่ 2 “Do not take anything personally” อย่าเอาอะไรมาใส่ใจเป็นการส่วนตัว การกระทำของคนอื่นไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเรา สิ่งที่คนอื่นพูดและทำคือภาพสะท้อนความเป็นจริงและความฝันของพวกเขาเอง เมื่อเรามีภูมิต้านทานต่อความคิดเห็นและการกระทำของคนอื่น เราก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อของความทุกข์ทรมานที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป
ประการที่ 3 “Do not make assumptions” อย่าทึกทักหรือคิดไปเอง กล้าที่จะตั้งคำถามและแสดงออกในสิ่งที่เราต้องการจริงๆ สื่อสารกับผู้อื่นอย่างชัดเจนที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิด ความโศกเศร้า และดรามา ข้อตกลงข้อนี้เพียงข้อเดียวก็สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนเราได้แล้ว
ประการที่ 4 “Always do your best” ทำให้ดีที่สุดอยู่เสมอ
การทำให้ดีที่สุดของคนเราจะเปลี่ยนไปตามช่วงเวลา และแตกต่างกันเช่นในตอนที่มีสุขภาพดีและตอนที่กำลังป่วย ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ใดก็ตาม ขอเพียงแค่ทำให้ดีที่สุด เราก็จะสามารถหลีกเลี่ยงการทำให้ตนเองเสียใจได้
มิเกลเขียนอธิบายถึงข้อตกลงสี่ประการด้วยระดับภาษาที่ง่ายต่อการอ่านและทำความเข้าใจเป็นอย่างมาก ทั้งตัวอย่างที่ยกมาประกอบก็เป็นเหตุการณ์ที่ใครๆก็พบเจอได้เช่นกัน ข้อตกลงสี่ประการนี้สามารถปรับใช้ได้กับทุกเรื่องในชีวิตของคนเรา ไม่ว่าจะเป็นการพูดอย่างซื่อตรงกับตนเองไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตามในชีวิต การไม่นำเอาคำพูดที่ไม่ดีและพลังงานด้านลบจากผู้อื่นหรือแม้แต่ตัวเราเองมาใส่ใจ การไม่ตั้งสมมติฐานหรือคิดไปเองนอกเหนือจากความเป็นจริงที่เห็นตรงหน้า และการทำทุกอย่างให้ดีอย่างที่สุดอยู่เสมอไม่ว่าจะกับเรื่องอะไรก็ตาม คนเราทุกวันนี้ถูกตรึงอยู่กับโซ่ตรวนของความเชื่อแบบเดิมๆที่เราได้รับมาตั้งแต่ยังเด็ก หากสามารถปรับเปลี่ยนมุมมองที่เรามีต่อสิ่งต่างๆรอบตัวได้ เราอาจสัมผัสได้ถึงความสงบและความสุขดั่งต้นไม้ใหญ่ที่ยืนตระหง่านและสง่างามท่ามกลางแสงแดด ลม ฝน และอุปสรรคอื่นๆ ข้อตกลงสี่ประการนี้จะสามารถช่วยให้คุณพบกับความสุขมากขึ้นอย่างแน่นอน
หากไม่เชื่อก็ต้องลองอ่านดูกันสักครั้ง 🙂
“It matters not how strait the gate,
How charged with punishments the scroll,
I am the master of my fate,
I am the captain of my soul.”
— William Ernest Henley