Bookshops Tour of London
.
จำไม่ได้ว่าเป็นตอนที่เท่าไหร่ เพราะไม่ได้เขียนถึงมานาน แต่เอาว่า London Review Bookshop LLRB) เป็นร้านหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะตัวมาก สวรรค์ของคนชอบงานวรรณกรรมทีเดียว ร้านนี้ตั้งอยู่ในถนนเล็กๆชื่อว่า Bury เยื้องกับทางเข้าหลักของ British Museum ถ้าไม่เดินหลงมาคงไม่ได้มาที่นี่เพราะส่วนมากเวลาเดินออกจากพิพิธภัณฑ์เราจะเลี้ยวขวาไปออก Oxford Street กันมากกว่า
.
London Review Bookshop ทำหนังสือพิมพ์ขนาด Tabloid ด้านวรรณกรรมโดยเฉพาะ Format ของหนังสือพิมพ์จะมีภาพเพียงหน้าปกหนังสือ หรือคนแต่งนั่นคือมากสุด ที่เหลือคือเรื่องย่อ หรือบทวิจารณ์หนังสือเล่มนั้นๆ และไม่ใช่บทวิจารณ์แบบทั่วไปแต่เป็นบทวิจารณ์ที่ลึกมาก ลึกแบบที่กล้าบอกว่าผมเองอ่านไม่ไหว ยังไม่มีทักษะด้านงานวรรณกรรมที่ถึงขั้นนั้น เดิมเคยเป็นสมาชิกอยู่หลายปีครับ ยิ่งอ่านยิ่งเมาหัวเลยต้องถอยก่อน แต่เป็นเรื่องดีเพราะว่าร้านนี้ทำในสิ่งเฉพาะกลุ่ม และทำได้ดีมากช่วยเพิ่มคุณค่าของงานวรรณกรรมให้แข็งแรง
.
เวลาไปลอนดอนผมชอบที่จะจัดตารางไปร้านนี้พร้อมๆกับมีกิจกรรมในละแวกเดียวกันไปด้วย ทุกวันศุกร์ British Museum จะปิดดึกกว่าปกติ ดังนั้นช่วงเย็นผมจะแวะไปที่ London Review Bookshop ก่อนเพื่อเลือกดูหนังสือ หาข้อมูลวรรณกรรมที่คิดว่าพอจะเหมาะกับตลาดบ้านเรา บางทีก็แวะทานอะไรรองท้องที่นี่เพราะร้านจะสามารถทะลุไปอีกด้านที่เป็น Cafe แล้วร้านข้างๆชื่อว่า Blade Rubber Stamps ร้านนี้แหละครับที่ชื้อครั่งสำหรับใช้ประทับจดหมาย การ์ดเวลาส่งให้สมาชิกช่วงปลายปี ที่นี่มีทุกอย่างให้เอาไว้ใช้เพิ่มลูกเล่นกับงานการ์ด กระดาษต่างๆ ออกมาตัวเบาทุกครั้ง ก่อนจะเดินกลับไปเข้าพิพิธภัณฑ์ต้องไปแวะดื่มเบียร์แก้กระหายที่ Museum Tavern เคยอ่านใน Lonely Planet เขาว่าผับนี้เหล่าคนดังอย่าง Karl Marx มักจะแวะมาดื่มประจำสมัยที่พำนักในอังกฤษช่วงหนึ่ง ความที่อยาก been there, done that เลยแวะทุกครั้งว่าไปดื่มที่เดียวกันมาแต่คนละเวลา การเดินในพิพิธภัณฑ์ช่วงเย็นมีคนไม่เยอะครับ ยิ่งค่ำย่ิงน้อย และอะดีนาลีนจะยิ่งหลั่งมากขึ้นเพราะบางห้องจะวังเวงไม่น้อย โดยเฉพาะห้องจัดแสดงมัมมี่
.
กลับมาที่ร้านหนังสือ ตามสไตล์ของร้านในอังกฤษที่การจัดหนังสือจะเป็น Author A-Z ไล่ไปตามตัวอักษร ไม่ได้จัดเป็น Category ครับ ส่วนชั้นใต้ดินจะมีหนังสือศิลปะอยู่บ้าง ลักษณะลูกค้าของร้านถ้าอยู่ในร้านนานจะสังเกตว่าส่วนมากเป็นนักวิชาการ อาจารย์ ไม่ค่อยมีวัยรุ่น นักศึกษาให้เห็น และที่นี่ไม่ได้วางหนังสือกลุ่ม Commercial Fiction หรือ Young Adult Fiction (YA) ที่เห็นล้วนๆคือ Literature จำไม่ได้ว่าเห็น Harry Potter มั้ย แต่มั่นใจว่าไม่มีเหมือนกัน ความเคร่งขรึมที่นี้มีคล้ายกับที่ Hatchards ที่ Picadilly แต่จริงจังด้านเนื้อหาที่นำเสนอมากกว่า
.
เย็นวันศุกร์กับร้านหนังสือ ซื้อเครื่องเขียน แวะหาเครื่องดื่มแก้กระหายก่อนเข้าไปย้อนเวลาในพิพิธภัณฑ์เป็นช่วงเวลาที่ดี ในเมืองใหญ่อย่างลอนดอน และอีกหลายที่ Cultural Destinations เป็นหมุดหมายที่ชวนให้ไปใช้เวลากับตัวเองและครอบครัวดียิ่ง บ่อยครั้งที่เมื่อเดินออกมาแทนที่จะเลี้ยวต่อไปเดินถนนสาย shopping แต่เลือกอีกเส้นทางไป Leicester Square เพื่อจะได้เดินผ่าน window display ของร้านหนังสืออีกมากมายเป็นความสุขแบบเงียบๆก่อนละขึ้นรถเมล์หน้า Waterstones สาขา Picadilly กลับที่พัก ถ้าเลือกได้ผมจะเลือกนั่งรถเมล์แทนนั่ง Tube เพราะอยากนั่งดูคน ดูเมืองไปเรื่อยๆ ราตรีที่ยังเยาว์ของลอนดอนยิ่งเวลาเม็ดฝนเกาะที่หน้าต่างยิ่งอยากให้ระยะทางไกลขึ้น