อาหารการกินที่บ้านฉัน 

        ตามต่างจังหวัดผู้คนส่วนใหญ่จะตื่นแต่เช้าเพื่อเข้าสวน หรือไปดูท้องนาที่ปลูกข้าวไว้ เพราะถ้าต้องไปรับจ้างทำงานก็ต้องเข้างานประมาณแปดโมงเช้า ดังนั้นก่อนจะไปทำงานรับจ้างหรือธุระอย่างอื่นก็ต้องเผื่อเวลาเพื่อออกไปดูสวน ดูนาข้าว ว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ เช่น ตอนกลางคืนฝนตก พอเช้ามาก็ต้องไปดูว่าน้ำในท้องนาขึ้นสูงหรือเปล่า คันนา (คันดินที่ยกร่องไว้ขังน้ำในท้องนา หรือเพื่อแบ่งเขตแดน) ยังดีอยู่ไหม ถ้าคันนาโดนน้ำจากฝนที่ตกลงมากัดเซาะจนพังก็ต้องใช้จอบไปขุดดินมาเสริมคันนา เพื่อให้ข้าวที่หว่านหรือปักชำไว้มีน้ำเพียงพอต่อการเจริญเติบโต และการตื่นเช้ายังทำให้การออกไปทำงานกลางแจ้งไม่ร้อนอีกด้วย ยิ่งช่วงเกี่ยวข้าวสมัยก่อนเราจะเกี่ยวข้าวด้วยมือ คือใช้เคียวในการเกี่ยวและแบ่งไว้เป็นกอง ๆ ขนาดแค่พอดีกับความยาวของต้นข้าวที่ใช้มัด และเวลาจะมัดฟ่อนข้าวจะต้องทำตอนข้าวที่เกี่ยวไว้แล้วยังมีความชื้น เพื่อให้ต้นข้าวมีความยืดหยุ่นไม่แห้งกรอบ ดังนั้นการมัดฟ่อนข้าวชาวนาสมัยก่อนจะตื่นมามัดข้าวตั้งแต่ตีสามตีสี่ เพื่อใช้ความชื้นของหมอกที่ลงมาตอนกลางคืน ช่วยให้มัดข้าวที่เกี่ยวไว้แล้วได้ 


        อาหารเช้าของเราก็ทำกันตั้งแต่ตื่นนอน คือพอตื่นนอนแล้วก็จะก่อไฟในเตาถ่านเพื่อนึ่งข้าวเหนียวที่แช่น้ำไว้ตั้งแต่เมื่อคืน วิธีการนึ่งข้าวเหนียวก็จะตั้งน้ำจากหม้อซึ้ง แล้วซาวข้าวที่แช่น้ำทิ้งไว้สองถึงสามน้ำเพื่อนำยางจากเมล็ดข้าวเหนียวออก แล้วนำมาใส่หวด (เครื่องสานจากไม้ไผ่) นำไปตั้งต่อจากหม้อซึ้งอีกชั้น ปิดฝาหม้อทับหวดเป็นเรียบร้อย ถ้าวันนั้นอยากกินไข่ต้มก็นำไข่ไปใส่ไว้ในหม้อซึ้ง ทิ้งไว้ให้สุกพร้อมกับข้าวเหนียวได้เลย และพอทำการนึ่งข้าวเหนียวไว้แล้วเราก็จะออกไปดูสวนหรือนา ขากลับก็จะมีผักริมรั้วหรือผักที่เกิดขึ้นในท้องนา เช่น ผักบุ้งนา ผักแว่น เป็นต้น หรือวันไหนฝนตกตอนกลางคืนเช้ามาก็อาจจะเจอปลาจากหลุมที่เราขุดล่อไว้ตามคันนาจะได้นำไปทำเป็นอาหารเช้า พอกลับมาไฟที่ก่อไว้ในเตาถ่านก็จะใกล้ดับพอดีเราก็จะมาเขย่าหวดเพื่อพลิกด้านของข้าวที่นึ่งไว้ให้ไอความร้อนทั่วถึง แล้วสักพักก็นำข้าวมาส่าย (ระบายความร้อนและนวด) ในกระด้งแล้วแบ่งใส่กระติบ เสร็จแล้วถ้าอยากกินผักลวกก็ใช้น้ำร้อนที่ยังเหลืออยู่ในในหม้อซึ้งลวกผักต่อได้เลยค่ะ 


        ส่วนกับข้าวก็ทำตามวัตถุดิบที่มีกันตอนนั้น ที่ขาดไม่ได้เลยก็คือผักสดหรือผักลวก และน้ำพริกปลาร้า ต้องได้กินทุกมื้ออาหาร ส่วนมื้อเที่ยงส่วนมากก็จะไปกินกันที่ท้องนาหรือในสวน ถ้าเป็นช่วงที่ต้องดำนาหรือเกี่ยวข้าวเราก็จะเอาอุปกรณ์สำหรับตำส้มตำไปไว้ที่กระท่อมที่สร้างไว้สำหรับพักกินข้าวและเก็บอุปกรณ์ทำไร่นา ตอนออกไปทำงานก็หิ้วกระติบข้าว กับข้าว และวัตถุดิบสำหรับตำส้มตำไปด้วย พอเที่ยงก็จะมีแม่ครัวส้มตำมาเตรียมอาหาร แล้วทุกคนก็จะมาล้อมวงกันกินข้าว แชร์กับข้าวที่ห่อกันมากับคนที่มาทำนาที่ใกล้ ๆ กัน พอตกเย็นสักห้าหรือหกโมงเย็นหลังเลิกงานก็จะกลับบ้านมานั่งมองหน้ากันแล้วถามว่าจะกินอะไร เรากับแม่ส่วนมากจะตอบว่าไม่รู้ ส่วนพ่อจะเป็นคนคิดเมนูอาหารและก็ทำอาหารเก่งมากเช่นกัน และใช่ค่ะบ้านเราส่วนมากพ่อจะเป็นคนทำกับข้าว (อบไก่บ้านสูตรของพ่ออร่อยมาก) ที่บ้านเราแต่ก่อนจะกินข้าวเหนียวในตอนเช้าและเที่ยง ส่วนมื้อเย็นจะหุงข้าวเจ้ากินกัน แต่ตอนนี้กินข้าวเจ้าทั้งสามมื้อ เพราะปลูกแต่ข้าวเจ้า ถ้าวันไหนอยากกินข้าวเหนียวก็เอาข้าวสารไปแลกกับญาติบ้านข้าง ๆ แทน 


        อาหารการกินถ้าเป็นผักก็จะปลูกกินเอง หรือเก็บตามท้องไร่ท้องนา หรือป่าใกล้บ้าน ที่หมู่บ้านของเรามีคลองน้ำที่ขุดไว้กลางหมู่บ้าน ตรงกลางของคลองจะมีผืนดินที่ชาวบ้านแบ่งที่ดินกันเพื่อปลูกผักไว้กินหรือนำไปขายได้ เราเรียกที่ตรงนั้นว่ากลางหนอง เวลาจะทำกับข้าวพ่อก็จะขับรถมอเตอร์ไซค์ไปเก็บผักที่ต้องใช้ที่นั่น ถ้าที่เราปลูกไม่มีผักที่ต้องการก็ขอกับป้าแปลงข้าง ๆ หรือถ้าใช้มากหน่อยก็จะขอซื้อกับเขา แต่ส่วนมากก็ไม่ต้องซื้อเพราะปริมาณผักที่ต้องใช้ทำอาหารแต่ละมื้อก็ไม่ได้มากมายอะไร แต่ถ้าเป็นเนื้อสัตว์ก็จะซื้อตามร้านขายของชำ ที่มีเพียงหมู ไก่ และปลาเท่านั้น ถ้าวันไหนมีตลาดนัดก็จะได้กินอาหารทะเลบ้าง 


        คำทักทายตอนเย็นเวลาเดินผ่านบ้านใครก็จะถามกันว่า “ได้อิหยังเฮ็ดแนวกิน” แปลว่า มีอะไรไปทำกับข้าวเย็นนี้ เป็นคำทักทายปกติเวลาเจอกัน ถ้าใครมีโอกาสไปเที่ยวบุรีรัมย์ลองนำไปทักทายกันได้นะคะ