ชีวิตในสนามบิน

ตอน 2


ในสนามบินเต็มไปด้วยร้านค้าต่าง ๆ มีทั้ง Duty Free และ Tax Free ร้านขายของฝาก ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านหนังสือ รวมกันอยู่ในสถานที่เดียวเหมือนห้างสรรพสินค้าเลย มีเกือบทุกอย่างให้เลือกสรร ขโมยก็คงคิดอย่างนั้นเหมือนกันเพราะเห็นขโมยทุกอย่างเลย ตั้งแต่น้ำเปล่ายันรูปปั้นที่ตั้งประดับไว้หน้าร้าน ชิ้นใหญ่และหนักพอสมควรมันยังขโมยไปได้ 


เรื่องจับขโมยหรือโดนขโมยของในร้านเกือบทุกร้านจะมีเรื่องเล่าเป็นของตัวเอง เรียกได้ว่าโดนกันเกือบทุกร้านแบบรู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง จากที่ได้เคยเจอเหตุการณ์มาทั้งจากพี่ ๆ ร้านอื่นบอกเล่าและที่เจอเอง จะแบ่งเป็น 2 ประเภทคือขโมยเพราะป่วย (เห็นจับได้ทีไรก็อ้างว่าป่วยทางจิตบ้าง เป็นซึมเศร้าบ้าง) กับขโมยเป็นอาชีพ มาเป็นแก๊งขโมยตามออเดอร์ที่สั่งซื้อ มีที่ปล่อยของแน่นอน


มีเคสนึงเกิดที่สนามบินเชียงใหม่ฝั่งผู้โดยสารระหว่างประเทศ เรื่องเกิดเมื่อประมาณพฤศจิกายนปี 60 เป็นผู้หญิงสัญชาติอินเดีย อายุ 25 ปี ขโมยสมุดโน้ตราคา 175 บาท (ค่าตั๋วเครื่องบินที่ต้องซื้อใหม่ ค่าประกันตัว อดได้งานที่กำลังไปสัมภาษณ์ เบ็ดเสร็จแล้วเสียเยอะกว่าค่าของที่ขโมยได้อีก) ตอนที่จับได้เป็นเวลาใกล้ปิดร้านแล้วประมาณเกือบห้าทุ่ม ไม่มีลูกค้าคนอื่นเลย เธอใช้วิธีถือไว้แล้วเดินดูอย่างอื่นต่อ พอลับสายตาก็เอาใส่กระเป๋าคาดเอวแล้วหยิบการ์ดราคา 50 บาทมาจ่ายแทน แล้วออกจากร้านไป แต่น้องคนขายเห็นว่าเธอไม่ได้เอาสมุดโน้ตมาจ่ายด้วย และไม่ได้เอากลับมาไว้ที่เดิม จึงย้อนกล้องวงจรปิดดู ก็เห็นเหตุการณ์นั้นและแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสนามบิน (พี่ ๆ ตระเวนหมวกแดง) จับตัวได้พร้อมของกลาง และนำตัวไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจภูพิงค์ซึ่งอยู่นอกสนามบินด้วยข้อหา ‘ลักทรัพย์ในท่าอากาศยานในเวลากลางคืน’ ประกันตัวออกไปแต่ต้องมารายงานตัวทุก 2 เดือนจนกว่าคดีจะสิ้นสุด พ่อของเธอเป็นนายแพทย์ได้เอาใบรับรองแพทย์มาแสดงว่าลูกป่วยเป็นโรคซึมเศร้า (ตำรวจเล่าให้ฟังตอนไปให้ปากคำ)


อีกเคสเป็นเคสของร้านข้าง ๆ ที่ผู้เขียนได้มีส่วนร่วมด้วย คือน้องที่ป่วยเป็นออทิสติกต้องนั่งรถเข็น แม่น้องเข็นมาจอดหน้าร้านแล้วเข้าไปเดินเลือกของในร้าน ระหว่างรอนั้นน้องก็หยิบของ(ตุ๊กตาช้าง) ใส่รถเข็นซ่อนไว้ข้างหลัง ผู้เขียนเห็นเหตุการณ์และได้บอกกับพนักงานร้านนั้น พนักงานจึงได้แจ้งแม่ของน้องตอนมาจ่ายเงินว่าน้องหยิบของใส่ในรถเข็น ให้เอาออกมาคืนหรือถ้าจะเอาก็ให้จ่ายเงิน (บอกด้วยความสุภาพ) แม่น้องจึงเดินไปหยิบของที่น้องซ่อนเอามาคืนพนักงาน แม่น้องบอกว่าเวลาที่เข็นรถไปใกล้ ๆ ชั้นที่วางของ น้องจะชอบหยิบของบนชั้นซ่อนไว้ในรถเข็น หรือถ้าน้องอยากได้ของชิ้นไหนก็จะฉีกทำลายจนแม่ต้องจ่ายเงินซื้อให้ น้องจะทำแบบนี้บ่อย ๆ แม่ต้องคอยตามจ่ายของที่น้องหยิบและทำลายเวลาอยากได้อยู่เป็นประจำ เคสนี้เข้าใจว่าน้องคงจะแสดงออกไม่เป็น ไม่รู้ว่าต้องแสดงออกยังไงจึงมีพฤติกรรมแบบนี้


คนป่วยอาจจะแสดงอาการต่างกันไป บางครั้งควบคุมไม่ได้ก็น่าเห็นใจ แต่พวกที่ตั้งใจขโมยเป็นอาชีพนี่ไม่น่าเห็นใจ ไม่น่าให้อภัยเลยจริง ๆ จับได้ก็ต้องเอาไปดำเนินคดีให้หนัก ๆ  เคสที่จะเล่านี้เป็นแก๊งแนวแขก ๆ ที่ชอบมาขโมยของตามออเดอร์สั่งซื้อ โดยวิธีขโมยคือจะทำทีมาเดินดูของและชอบเข้ามาตอนที่มีพนักงานในร้านคนเดียว เข้ามาในร้านก่อนหนึ่งคนให้ดึงความสนใจพนักงานงานไว้ แล้วอีกคนหรือสองคนจะเข้ามาทีหลัง เว้นระยะจากคนแรกที่เข้ามาทำเหมือนไม่ได้มาด้วยกัน เดินไปหยิบของที่จะขโมยซ่อนในเสื้อบ้าง กระเป๋าบ้าง แล้วจะออกไปก่อนคนแรกที่เข้ามา พวกนี้จะขโมยได้ทีละเยอะ ๆ ยิ่งของชิ้นเล็กอย่างเครื่องสำอางหรือน้ำหอมซ่อนได้ง่าย มาย้อนกล้องดูหรือเช็กทีหลังแล้วรู้ว่าหายจะเจ็บใจมาก เพราะมูลค่าของที่หายเยอะพนักงานต้องชดใช้ อย่างร้านหนังสือก็มีออเดอร์ขโมยเหมือนกัน มีช่วงนึงที่หนังสือท่องเที่ยวประเทศไทยของ Lonely planet เป็นหนังสือที่ขายดีและหายดีด้วย ยิ่งแผนที่ท่องเที่ยวประเทศไทยที่เป็นภาษาอังกฤษจะหายเยอะมาก


เจอเคสโดนขโมยของบ่อย ๆ ก็แจ้งเจ้าหน้าที่ตระเวนหมวกแดงกับตำรวจบ่อย จนพี่ ๆ บางคนจำหน้าได้ทักว่าเป็นไงจับได้อีกหรือเปล่า? คดีไปถึงไหนแล้ว? ถึงกับต้องให้น้อง ๆ พนักงานในร้านบันทึกเบอร์โทรของศูนย์รักษาความปลอดภัยของสนามบินติดเครื่องไว้เลย ที่สนามบินดอนเมืองเป็นสาขาน้องใหม่ที่เพิ่งเปิดไปเมื่อกลางเดือนมกราคม ร้านอยู่ประตูขึ้นเครื่อง 36 สุดทาง (ถ้ามีเวลาก็เดินแวะไปดู ไปคุยด้วยหน่อยนะคะ^_^) ที่สนามบินดอนเมืองยังไม่มีเคสขโมยของแต่พี่ ๆ ร้านข้างกันในบริเวณนั้นก็เตือนมาว่าให้ระวังขโมยให้ดี โดยเฉพาะไฟลท์โดฮาตอนดึก ๆ  พี่ ๆ เค้าโดนขโมยบ่อยมากเลยเตือนมา คงเห็นเราเพิ่งเปิดกลัวไม่ทันขโมย พี่ ๆ ใจดีเตือนมาขนาดนี้ต้องระวังกันแล้วล่ะ




เรื่อง : ดาว

ภาพประกอบ : Serm