มีคนสงสัยว่าข้อมูลมากมายในแต่วันจากสำนักพิมพ์คนขายจะเอาเวลาไหนไปศึกษาข้อมูลอย่างจริงจัง คำถามที่สองคือมีตัวอย่างอะไรบ้างที่น่าเรียนรู้ ผมจะเล่าส่วนหนึ่งของงานการตลาดจากสำนักพิมพ์ต่างประเทศ
.
ในอดีต Printed Catalogue เป็นเครื่องมือการสื่อสารหลักระหว่างสำนักพิมพ์และคนขาย catalogue ถือว่าเป็นสิ่งมีค่ามาก หายไม่ได้ ต้องจัดเก็บอย่างดี มีการทำ filing เอาไว้ว่าจากไหน และช่วงไหนถึงไหน พอมีอีเมล์เข้ามาก็มีช่องทางเพิ่มขึ้น แต่ว่ายังไม่ได้ขนาดสามารถส่ง file ใหญ่ๆกันได้ ถ้าไม่ต้องเข้า ZIP มา ตอนนั้นยังไม่มี wetransfer มาช่วยในการส่ง file ขนาดใหญ่ให้ง่าย พัฒนาการทางเทคโนโลยีดีขึ้นเรื่อยๆแต่ Printed Catalogue ก็ยังคงเป็นเครื่องมือหลัก ผมเองคนหนึ่งที่ไม่ยอมใช้ PDF Catalogue เลย จะใช้แต่เล่มจริงเท่านั้น จนโควิดทำให้ต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน ทั้งตัวคนขายเองและสำนักพิมพ์
.
ทุกสำนักพิมพ์ใหญ่จะเพิ่มช่องทางที่เรียกว่า Digital Assets เอาให้บริการคนขาย นอกจากข้อมูลหนังสือแล้ว สิ่งที่เขาเตรียมให้คือภาพถ่ายสินค้าทั้งแบบถ่ายในสตูดิโอ ถ่ายภาพที่เรียกว่า Lifestyle จัดขนาดสำหรับเอาลง IG, Facebook, Cover กระทั่ง VDO สำหรับลง TikTok ยิ่งไปกว่านั้นคือ layout ของ Bookmark, Postcard, Bag, Flag, Poster ทุกอย่างโดยที่เราไม่ต้องไปออกแบบเลย เพียงแต่ download แล้วเอาไปพิมพ์ใช้งานได้ทันที แถมยังมี excel สำหรับง่ายต่อการกรอกจำนวนที่ต้องการสั่งมาไว้ให้
.
และเกือบจะทุกครั้งถ้าเป็นหนังสือของนักเขียนที่มีผลงานก่อนหน้า สำนักพิมพ์จะเอามารวมทำธีมให้เราด้วย เรียกว่าเชิญชวนให้สั่งหนังสือมากกว่าหนึ่งเล่ม และถ้าเป็นหนังสือเด็กและเยาวชนจะมีแบบคำถามสำหรับตั้งคำถามกับเด็กเมื่ออ่านหนังสือเล่มนั้นๆเตรียมมาให้ด้วย นี่เป็นความพร้อม และการปรับตัวอย่างเต็มรูปแบบของสำนักพิมพ์นับตั้งแต่โควิดที่เราไม่ได้ไปเจอกันในงานหนังสือ ไม่มีการจับต้องเล่มจริง ดังนั้นโจทย์คือการจัดงานหนังสือที่บริษัทของลูกค้าเสียเลย หรือถ้า WFH ก็เข้าไปจัดที่บ้าน ถึงเวลางานจริงก็จัด Virtual Book Fair จากสถานที่จริงซะเลย เหล่านี้เป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดดในสามปีมานี้
.
ตัวอย่างภาพคือผลงานที่เตรียมไว้ให้โดย Harpercollins UK ของนักเขียน Winner of The YA Book Prize (YA ย่อมาจาก Young Adult) Alice Oseman ได้รางวัลจากเรื่อง Loveless และสำนักพิมพ์เอาหนังสือของเธอทั้งหมดมาถ่ายภาพในบรรยากาศต่างๆเพื่อให้ร้านหนังสือเอาไปโปรโมท สำหรับนักเขียนบางคนจะมีข้อมูลสัมภาษณ์เตรียมไว้ให้ด้วย แถมว่าในงาน Book Launch เดิมจะมีเฉพาะที่ประเทศต้นทางของสำนักพิมพ์เท่านั้น เดี๋ยวนี้จะเป็นเข้าร่วมงานได้เพียงแจ้งความจำนง สำนักพิมพ์จะส่งลิงค์มาให้เข้าตามวัน เวลาที่กำหนด
.
ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งใหม่ และเป็นผลดีที่สำนักพิมพ์มีการพัฒนารูปแบบของการส่งข้อมูลมาก และคนขายเริ่มเอาไปใช้งานมากขึ้น ชัดเจนว่าคนขายเองก็ได้มุ่งเน้นไปทางการขายมากขึ้น โดยเฉพาะร้านหนังสือขนาดเล็กที่ไม่มีคนทำงานมาก สำนักพิมพ์ทำหน้าที่เป็นฝ่ายการตลาดให้ซึ่งช่วยเบาแรงไปได้มากทีเดียว
.
ผมตอบคำถามเหล่านี้บ่อย และคิดว่านี่เป็นแนวทางที่ถูก มีประโยชน์ในอนาคต การมีคนมาช่วยคิด ช่วยทำงานส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมรวม เมื่อมาถึงคำถามว่าทำไมอุตสาหกรรมหนังสือในต่างประเทศถึงเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ทำไมสำนักพิมพ์ Bloomsbury ถึงแจ้งตัวเลขล่าสุดว่า "ปีที่ผ่านมา (ปิดยอดเมื่อเดือนมีนาคม) Bloomsbury มียอดขาย และกำไรสูงสุดนับตั้งแต่เปิดบริษัทมา" ผมเชื่อว่าเพราะการทำงานที่เชื่อมโยงกันระหว่างคนทำหนังสือ คนขาย โดยทั้งอุตสาหกรรมทำอย่างเดียวกันจนกลายเป็น Butterfly Effect ในที่สุด
.
The PRINT IS DEAD, LONG LIVE PRINT
เดอะ บิ๊ดสมุ้ก