“Kindness is a language which the deaf can hear and the blind can see.”

― Mark Twain

The Keys to Kindness เขียนขึ้นโดย Claudia Hammond ผู้ประกาศข่าว นักเขียน และอาจารย์ด้านจิตวิทยา เธอมักให้ความรู้ผ่านทางวิทยุ โทรทัศน์ พอดแคสต์ กิจกรรมสาธารณะ หรือแม้แต่ในหนังสือว่างานวิจัยทางจิตวิทยาและการแพทย์สามารถช่วยเหลือเราในชีวิตประจำวันได้อย่างไร นอกจากหนังสือเรื่อง The Keys to Kindness เธอยังเป็นผู้เขียนหนังสือ The Art of Rest, Mind Over Money, Time Warped และ Emotional Rollercoaster อีกด้วย

คำว่า Kindness ในภาษาอังกฤษสามารถแปลเป็นภาษาไทยได้มากกว่าหนึ่งคำ ไม่ว่าจะเป็นความใจดี ความเมตตา ความกรุณา ความปราณี ซึ่งใจความหลักของคำเหล่านี้ก็หมายถึงสิ่งเดียวกัน นั่นคือการปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเข้าอกเข้าใจ เอาใจเขามาใส่ใจเรา การให้อภัย การให้โอกาส และอื่นๆอีกมากมาย หนังสือ The Keys to Kindness เป็นหนังสือที่อธิบายให้เราเข้าใจอย่างถ่องแท้มากขึ้นว่าความใจดีจะสามารถช่วยให้คนเรามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ประสบความสำเร็จ และพบจุดมุ่งหมายของชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร 

ในส่วนแรกของหนังสือ แฮมมอนด์ได้เกริ่นเอาไว้ว่าความใจดีไม่ได้มีเพียงลักษณะเดียวเท่านั้น ความใจดีอาจหมายถึงความรู้สึกจากภายใน เช่น การอดทน การใส่ใจผู้อื่น หรืออาจหมายถึงการกระทำที่แสดงออกมา ไม่ว่าจะการช่วยเหลือคนที่กำลังลำบาก หรือการหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่สบายใจก็ตาม ถึงอย่างนั้นความใจดีก็อาจไม่ใช่เรื่องที่ง่ายอย่างที่หลายต่อหลายคนคิด หลายครั้งที่คนเราถูกเข้าใจเจตนาผิดทั้งที่ตั้งใจทำเพื่อคนอื่นด้วยความปรารถนาดี หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยให้เราทุกคนได้เข้าใจความใจดีมากขึ้น ความใจดีต่อตนเองและผู้อื่น รวมทั้งพิสูจน์ให้เห็นว่าความใจดีนั้นไม่ใช่จุดอ่อนของคนเราเลย แฮมมอนด์เขียนถึงหัวใจหลักของความใจดีว่ามีทั้งหมด 7 ประการ 

ประการที่ 1 “There is more kindness in the world than you might think.” 

  โลกใบนี้มีความใจดีมากกว่าที่คุณจะคาดถึง

ประการที่ 2 “Being kind makes you feel good and that’s OK.” 

  มันโอเค หากการใจดีต่อคนอื่นจะทำให้คุณรู้สึกดี

ประการที่ 3 “Don’t get too hung up on motives.” 

  อย่าคิดมากว่าแรงจูงใจที่ทำให้เราใจดีมาจากไหน

ประการที่ 4 “Kind people can be winners.” 

  คนใจดีก็เป็นผู้ชนะได้เหมือนกัน

ประการที่ 5 “Kindness comes from seeing other people’s points of view.” 

  ความใจดีมาจากการมองเห็นมุมมองของคนอื่น

ประการที่ 6 “Anyone can be a hero.” 

  ใครๆก็เป็นฮีโร่ได้ทั้งนั้น

ประการที่ 7 “Remember to be kind to yourself.”

  อย่าลืมใจดีกับตัวเอง

ในส่วนสุดท้าย แฮมมอนด์สรุปเนื้อหาทั้งหมดและแนะนำเทคนิคต่างๆว่าควรทำอย่างไรให้ตัวเราสามารถพัฒนากลายเป็นคนที่ใจดีมากขึ้น และอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยความใจดีมากกว่าเดิม ก่อนหน้าที่จะอ่านหนังสือเล่มนี้ เรามีปัญหากับความใจดีของตนเองมาอยู่ตลอดว่าที่เป็นตนเองใจดีกับคนอื่นนั้น ที่จริงแล้วไม่ใช่การทำเพื่อผู้อื่นโดยแท้จริง หากแต่เป็นการทำเพื่อตนเองเพราะทำแล้วรู้สึกดี ตลอดมาจึงไม่เคยนับตัวเองว่าเป็นคนใจดีเลย อย่างไรก็ตาม หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว เราคิดได้ว่าจริงๆคนเราไม่ควรใจร้ายหรือมองตนเองในแง่ร้ายมากเกินไป การเป็นคนใจดี ไม่ว่าจะจากข้างในจิตใจหรือจากการกระทำภายนอก ต่อให้เป็นเรื่องเพียงเล็กน้อยหรือยิ่งใหญ่ก็ควรค่าแก่การรู้สึกภูมิใจในตัวเองทั้งนั้น 

การใจดีต่อคนอื่นมีหลากหลายรูปแบบตามที่แฮมมอนด์เขียนไว้ในหนังสือ หากได้ทำความเข้าใจกับความใจดี ความใจดีคืออะไร มีลักษณะไหนบ้าง โลกนี้เต็มไปด้วยความโหดร้ายจริงหรือ ความใจดีเป็นประโยชน์ต่อใครบ้าง ความใจดีคือจุดอ่อนหรือแท้จริงแล้วไม่ใช่อย่างนั้น ทำอย่างไรถึงจะเป็นคนใจดีมากกว่าเดิมได้ เราอาจพบเจอแนวทางใหม่ในการทำให้ชีวิตมีความหมายและมีความสุขมากขึ้นก็ได้

มาร่วมหาคำตอบไปด้วยกันกับหนังสือ The Keys to Kindness 

“A random act of kindness, no matter how small, can make a tremendous impact on someone else's life.”

― Roy T. Bennett

.

“Three things in human life are important: the first is to be kind; the second is to be kind; and the third is to be kind.”

― Henry James

.

“Tenderness and kindness are not signs of weakness and despair, but manifestations of strength and resolution.”

― Kahlil Gibran


อ้างอิง

https://claudiahammond.com/